|
เงินทองเรื่องต้องรู้ เรื่อง "โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา"
ฉบับนี้ ขอต่อสาระน่ารู้ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีประจำปี มีข่าวดีข่าวด่วน ซึ่งหลายท่านคงทราบข่าวภาษีใหม่ โดยนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ว่า ที่ประชุม เห็นชอบให้ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่อย่าพึ่งดีใจนะค่ะ เพราะปีภาษี 2555 อาจไม่ทันใช้ เนื่องจาก ต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรไปยังสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน จึงจะสามารถใช้ได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาดำเนินการนาน โดยคาดว่าในปีภาษี 2556 ที่จะยื่นเสียภาษีในปี 2557 ถึงจะได้ใช้ฐานภาษีรูปแบบใหม่ได้ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นการปรับขั้นอัตราภาษีให้ถี่ขึ้น จากเดิม 5 ขั้น เป็น 7 ขั้น โดยอัตราต่ำสุด และ สูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะปรับจาก 10-37% เป็น 5-35% การดำเนินการดังกล่าวสะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่ดีของภาครัฐ ที่ได้มุ่งหวังให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้จากภาษีสูงสุดอันดับที่ 3 ในปีงบประมาณ 2555 รองจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล มีความเป็นธรรม และเหมาะสมยิ่งขึ้น ในขณะที่ผลสุทธิต่อรายได้รัฐบาลคงขึ้นอยู่กับการขยายฐานผู้เสียภาษี และประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ ซึ่งเป็นการช่วยเอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์เงินเดือนอย่างพวกเราๆท่านๆ ซึ่งได้รับเต็มๆส่วนลดมากถึง 50% จากการคำนวณตามฐานภาษีใหม่ แบ่งย่อยขั้นภาษีเพิ่มขึ้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ของประชาชนผู้เสียภาษี โดยให้ลดอัตราการจัดเก็บภาษีจากเดิมที่กำหนดไว้สูงสุดที่ 37% เป็น 35% พร้อมทั้งปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยา ให้สามารถยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันหรือแยกต่างหากจากคู่สมรสได้ ขณะเดียวกันได้เห็นชอบให้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ โดยให้คิดตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยังเห็นชอบขยายเวลาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปอีก 1 เดือนถึง 31 ม.ค.56 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งการดำเนินการทั้งหมด โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และปรับการจัดเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยา ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีในปี 56 ถึง 3.2 หมื่นล้านบาท ส่วนปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ทำให้ภายในปี 59 รัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น 25,639 ล้านบาท ขณะที่การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัด เก็บภาษีสรรพสามิต 9,000 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ตามข้อมูลการคิดภาษีใหม่ กรมสรรพากร ก็ได้เสนอให้ปรับอัตราการเก็บภาษีบุคคลธรรมดาใหม่ หลังหักรายจ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว โดยให้มีช่วงความถี่มากขึ้น แยกเป็นขั้นๆ ดังนี้
ขั้นที่ 1 รายได้ 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีตามเดิม
ขั้นที่ 2 รายได้ 150,001-300,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 10% ปรับใหม่เป็นเสียภาษี 5%
ขั้นที่ 3 รายได้ 300,001-500,000 บาท เสียภาษี 10% ตามเดิม
ขั้นที่ 4 รายได้ 500,001-750,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 20% ปรับใหม่เป็นเสียภาษี 15%
ขั้นที่ 5 รายได้ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20% ตามเดิม
ขั้นที่ 6 รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 30% ปรับใหม่เป็น 25%
ขั้นที่ 7 รายได้ 2,000,001-4,000,000 บาท เสียภาษี 30% ตามเดิม
ส่วน รายได้ตั้งแต่ 4,000,000 บาท จากเดิมเสียภาษี 37% ปรับใหม่เป็นเสียภาษี 35%
ทั้งนี้ การคำนวณภาษี จะแบ่งคำนวณเป็นขั้นบันได้ แล้วบวกทบกันไป เช่น มีรายได้ 1 ล้านบาทต่อปี เริ่มจาก 150,000 บาทแรก ไม่ต้องเสีย มาเริ่มขั้นที่ 2 150,000 – 300,000 บาท จากเดิม 10% เป็นเงิน 15,000 บาท แบบใหม่ เสีย 5% เท่ากับ 7,500 บาทบวกด้วยส่วนต่างในขั้น 300,000 – 500,000 บาท จำนวนเงิน 200,000 บาท ก็เสียในอัตรา 10% เท่ากับ 20,000 บาท ตามด้วยขั้นที่ 4 รายได้ 500,001-750,000 บาท จากส่วนต่าง 250,000 บาท เดิมเสียภาษี 20% ปรับใหม่เป็นเสียภาษี 15% เป็นเงิน 37,500 บาท สุดท้ายคิดขั้นที่ 5 รายได้ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20% ตามเดิม เป็นเงินอีก 50,000 บาท รวมการเสียรูปแบบใหม่ เป็นเงิน 115,000 บาท สำหรับผู้ที่มีรายได้ 1 ล้านบาทต่อปี หรือมีเงินเดือนประมาณ 83,000 บาท ขณะที่ หากคิดภาษีแบบเดิมที่รายได้ 1 ล้านบาทต่อปี จะต้องเสียภาษี อยู่ที่ 135,000 บาท เท่ากับว่าฐานภาษีลดลงไป 20,000 บาท แต่หากมีรายได้ประมาณ 240,000 บาทต่อปี หรือ 20,000 บาทต่อเดือน จากเดิมฐานภาษีจะตกปีละ 9,000 บาท แต่ในฐานภาษีระบบใหม่ จะเหลือเพียง 4,500 บาท เท่ากับว่า ประหยัดไปได้ถึง 50% คิดเป็นเม็ดเงินก็ถึง 4,500 บาท ทั้งนี้ การคำนวณภาษีดังกล่าว ยังไม่รวมการหักลดหย่อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน LTF/RMF ลดหย่อนบุตร บุพการี ประกันสังคม และสิทธิลดหย่อนอื่น เป็นต้น การปรับโครงสร้างอัตราภาษีใหม่นี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ผู้เสียภาษี และสร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท กองคลัง จะรวบรวมสิ่งดีๆ มีสาระและเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยให้ทราบเป็นระยะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ความกระจ่างแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ ในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี สำหรับผู้อ่านหรือบุคลากรท่านใดที่ต้องการให้กองคลังเสนอบทความที่ท่านมีความสนใจเป็นพิเศษสามารถแนะนำได้ที่ กองคลัง พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ อินไซด์ มจธ. ฉบับประจำเดือน มกราคม 2556
โดย : คุณปริญดา เจิมจาตุผล ผู้อำนวยการกองคลัง มจธ.
Back to the list |