เงินทองเรื่องต้องรู้ เรื่อง "ภาษีประจำปี"

 

ฉบับนี้ เป็นเดือนสุดท้ายของปีพ.ศ.2555  จึงขออนุญาตแทรกสาระน่ารู้ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีประจำปี ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกท่านต้องรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี  ณ ที่จ่าย เพื่อนำไปแสดงรายการ ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี   ยื่นภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป      เนื่องจากมีประเด็นที่หลายท่านอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องที่หน่วยงานผู้จ่ายเงินได้ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากการรับรายได้หลายประเภท  เช่น  รายได้จากเงินเดือน   รายได้ค่าตอบแทน งานวิจัยและบริการวิชาการ  ซึ่งหน่วยงานผู้จ่ายเงินได้ หลายแหล่ง ทั้งมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลของรัฐ  ก็มีข้อสงสัย ในเรื่องการออกหนังสือรับรองรายได้ให้บุคลากรภายในหน่วยงาน     ดังนั้น  เพื่อให้การยื่นแบบเงินได้พึงประเมินประจำปีของผู้มีเงินได้ถูกต้องและไม่ต้องถูกกรมสรรพากรเรียกเงินคืนในภายหลัง     กองคลัง  ขอเสนอ แนววินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ได้ตอบข้อหารือ เรื่องของเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ของโรงพยาบาลของรัฐ แห่งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชันเจนไว้ในฉบับนี้  ดังนี้

ตัวอย่าง  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำหนังสือหารือ เรื่องเงินได้คลินิกพิเศษนอกเวลาของโรงพยาบาล และ กรมสรรพากรได้ตอบเป็นแนววินิจฉัย ว่ารายได้ค่าตอบแทน ดังกล่าว เป็นค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือ ตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ซึ่งรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้ ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่ รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร     ค่าตอบแทน ดังกล่าวข้างต้น จึงเทียบเคียงได้กับค่าตอบแทนที่บุคลากรของมหาวิทยาลัย (มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกร) ได้รับจากการทำงานวิจัยและงานบริการ

สำหรับ แนววินิจฉัย  ที่สามารถใช้เทียบเคียงกับมหาวิทยาลัย ขอเสนอตัวอย่างข้อหารือ 2 ตัวอย่าง ดังนี้ค่ะ  

ข้อหารือ  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ

เลขที่หนังสือ

: กค 0702/1703

วันที่

: 4 มีนาคม 2553

เรื่อง

: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ

ข้อกฎหมาย

: มาตรา 40(1) มาตรา 40(2) และมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ

          นาย ก. ได้รับเงินเดือนและได้รับเงินจากการตรวจรักษาผู้ป่วยที่ คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการของโรงพยาบาล โดยมี หนังสือข้อตกลงการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งแพทย์เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาจากผู้ป่วยและมีการตกลงแบ่งรายได้จากค่าตรวจ รักษาให้โรงพยาบาลตามอัตราส่วนที่กำหนด เงินรายได้จากการตรวจรักษาผู้ป่วยที่คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีเอกสารรับรองเป็นค่าตอบแทนจากการประกอบวิชาชีพอิสระ ตาม มาตรา 40(6) แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งนาย ก.ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2551 แล้ว แต่เมื่อเดือนกันยายน 2552  นาย ก. เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก.จึงขอทราบว่า เงินได้จากการตรวจผู้ป่วยในคลินิกพิเศษนอก เวลาราชการเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด

แนววินิจฉัย

          1. หากค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน ค่า ตอบแทนดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่างานที่ปฏิบัตินั้นจะใช้วิชาการทางการประกอบ โรคศิลปะอันเป็นวิชาชีพอิสระก็ตาม และเงินได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน หมายรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้รับ เนื่องจากการจ้างแรงงาน
          2. หากค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือ ตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ ซึ่งรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งที่ทำหรือ จากการรับทำงานให้ ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่ รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. สำหรับค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับ ซึ่งจะถือเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องปรากฏว่าแพทย์ได้เปิดคลินิกรักษาคนไข้เป็นการส่วนตัว หรือแพทย์ทำสัญญาหรือ ตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือและ อุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะในนามของแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วยโดย แพทย์เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาเองและมีข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วยให้แก่สถานพยาบาลเป็นลายลักษณ์อักษร  หรือแพทย์ทำสัญญาหรือตกลงกับ สถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่เครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลปะในนามของแพทย์เพื่อ ตรวจและรักษาผู้ป่วย และมี ข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนแพทย์ แล้วนำมาจ่ายให้กับแพทย์เพื่อแบ่งรายได้ให้สถานพยาบาล เงินได้ที่แพทย์เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เฉพาะส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่งของสถานพยาบาลออก
          กรณีตามข้อเท็จจริง หากนาย ก.ทำสัญญาหรือข้อตกลงกับ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อประกอบโรคศิลปะในนามของนาย ก. เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วย และมีข้อ ตกลงแบ่งค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดย มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนนาย ก. แล้วนำมาจ่ายให้กับนาย ก. เพื่อ แบ่งรายได้ให้มหาวิทยาลัยมหิดลต่อไป เงินได้ที่นาย ก.เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) แห่งประมวล รัษฎากร มิใช่เฉพาะ เงินส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่งของมหาวิทยาลัยมหิดลออกแล้ว     

เลขตู้

: 73/37159

 

 

เลขที่หนังสือ

: กค 0706/ก.00331

วันที่

: 23 กรกฎาคม 2546

เรื่อง

: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ค่าตอบแทนของข้าราชการและบุคคลภายนอก

ข้อกฎหมาย

: มาตรา 40(1)(2)

ข้อหารือ

: มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการทำวิจัยต่าง ๆ จากแหล่งเงินภายนอกทั้งจากภาค รัฐและภาคเอกชน โดยมีการจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่มหาวิทยาลัยครั้งเดียว หรือหลายครั้งขึ้นอยู่กับ โครงการวิจัยแต่ละโครงการ ซึ่งในการดำเนินการวิจัยจะมีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคคลภายนอกและ บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ปฏิบัติงานในโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยจึงขอทราบว่า การจ่ายเงิน ค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในโครงการวิจัยดังกล่าว ซึ่งอาจจ่ายครั้งเดียว หรือจ่ายเป็นงวด ๆ ให้แก่ ผู้รับที่เป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยและบุคคลภายนอก หรือมีวิชาชีพอิสระ เช่น วิศวกร สถาปนิก มหาวิทยาลัยถือว่าเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้อง หรือไม่

แนววินิจฉัย

: 1. กรณีข้าราชการของมหาวิทยาลัย ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนประจำ จากมหาวิทยาลัย อยู่แล้ว และได้รับเงินค่าตอบแทนจากการปฏิบัติงานในโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีก เงินค่าตอบแทน จากการปฏิบัติงานในโครงการวิจัยดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้อันเนื่องมาจากการจ้างแรงงาน ตาม มาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีมหาวิทยาลัยจ่ายเงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานในโครงการวิจัยให้แก่บุคคลภายนอก มหาวิทยาลัย เข้าลักษณะเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ ที่ได้ เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ ทำหรือรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

: 66/32577

ข้อหารือ  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้ค่าตอบแทนของข้าราชการและบุคคลภายนอก

จากทั้ง 3 ตัวอย่างข้างต้นที่มีความชัดเจน   กองคลังจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ความกระจ่างแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีต่อไป

         สำหรับผู้อ่านหรือบุคลากรท่านใดที่ต้องการให้กองคลังเสนอบทความที่ท่านมีความสนใจเป็นพิเศษสามารถแนะนำได้ที่ กองคลัง     พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ อินไซด์ มจธ. ฉบับประจำเดือน ธันวาคม 2555

            โดย : คุณปริญดา เจิมจาตุผล  ผู้อำนวยการกองคลัง มจธ.


Back to the list
KMUTT Intranet BANNER BANNER BANNER