U.ICT

สำนักคอมฯ ขยายช่องทางเชื่อมเน็ต 3 Gbps และเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง

7 พฤศจิกายน 2557: สำนักคอมพิวเตอร์ มจธ. เพิ่มศักยภาพการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ รองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ขยับสู่ความเร็วถึง 3 Gbps และขยายช่องทางเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่การศึกษาของ มจธ. ครอบคลุมทุกแห่ง

สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกาศดำเนินการปรับปรุงบริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และการเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างพื้นที่การศึกษาให้รองรับกับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น และต้องการความเร็ว รวมถึงเสถียรภาพที่มากขึ้น ด้วยการปรับปรุงขยายช่องทางออกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสู่ต่างประเทศจากเดิม 550 Mbps ก้าวไปสู่ความเร็วระดับ 3 Gbps โดยแบ่งการเชื่อมต่อเป็นสองส่วนคือช่องสัญญาณสำหรับผู้ใช้งาน 2 Gbps และช่องสัญญาณสำหรับสำหรับเครื่องแม่ข่าย 1 Gbps ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา โดยหวังจะเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการใช้งานให้ดีขึ้น

นอกจากนั้นยังได้ทำการขยายช่องสัญญาณเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างพื้นที่การศึกษาของ มจธ. ทุกแห่ง และช่องสัญญาณเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับอาคารหอพักต่างๆ ดังนี้

  • มจธ.บางมด กับ มจธ.บางขุนเทียน จาก 200 Mbps เป็น 250 Mbps
  • มจธ.บางมด กับ มจธ.ราชบุรี (สวนผึ้ง) จาก 40 Mbps เป็น 100 Mbps
  • มจธ.บางมด กับ ศูนย์บริการทางการศึกษาในเมือง ขนาด 100 Mbps
  • หอพักนักศึกษา มจธ.บางมด อาคารละ 100 Mbps
  • หอพักนักศึกษา มจธ.บางขุนเทียน อาคารละ 100 Mbps
KMUTT internet 3Gbps diagram

อ.มนตรี สุภัททธรรม ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า “การปรับปรุงบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่สำนักคอมพิวเตอร์ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปริมาณการเข้าใช้บริการที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งการดำเนินการปรับปรุงบริการในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นการให้บริการแก่นักศึกษาด้านการเรียนการสอน หรือการค้นคว้าวิจัยของอาจารย์และนักวิจัย และหวังว่านักศึกษาและบุคลากรจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ จากการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อไป”

ศูนย์บริการอินเตอร์เน็ต สำนักคอมพิวเตอร์ ย้ายสถานที่ให้บริการใหม่

ศูนย์บริการอินเตอร์เน็ต ห้องบริการคอมพิวเตอร์ลานแดง อาคารเรียนรวม 2 ชั้น 1 ย้ายสถานที่ให้บริการใหม่เป็น เคาน์เตอร์ศูนย์บริการอินเตอร์เน็ต อาคารเรียนรวม 2 ชั้น 2 สำนักคอมพิวเตอร์

วันและเวลาในการให้บริการ: เปิดให้บริการในวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลาช่วงเช้า 9:00 - 12:00 น. และช่วงบ่าย 13:00 - 16:30 น.และปิดให้บริการในวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข 0-2470-8262

เทคนิคการทำงานจากที่พักอาศัย

เมื่อจำเป็นจะต้องทำงานจากที่บ้านหรือภายนอกมหาวิทยาลัย มีขั้นตอนง่าย ๆ ในการใช้งานระบบต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ดังนี้

  • เริ่มต้นด้วยการติดตั้งระบบเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network) บนเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์โมบาย ดูรายละเอดียดเพิ่มเติม
  • เมื่อติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ก่อนใช้งานระบบต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ให้ทำการลงชื่อเข้าใช้ระบบเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network) ก่อน​
  • เมื่อทำการเชื่อมต่อกับเครือข่ายของมหาวิทยาลัยแล้ว สามารถใช้งานระบบต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้เสมือนทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย
ระบบ ลักษณะการใช้งาน
อีเมล์ @kmutt.ac.th, @mail.kmutt.ac.thใช้งานได้ทันที
ระบบอินทราเน็ตใช้งานผ่าน VPN

มาตรการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

พื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการโดยรวม ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. ครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 มีมติเห็นชอบให้กำหนดมาตรการในการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต ดังต่อไปนี้

1. การจำกัดขนาดช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ออกต่างประเทศที่ 30 Mbps ต่ออาคาร ระหว่างเวลา 07.00 – 21.00 น. ดังนี้

  • หอพักนักศึกษาชาย ( มจธ.ทุ่งครุ)
  • หอพักนักศึกษาหญิง (มจธ.ทุ่งครุ)
  • หอพักนักศึกษา (มจธ.บางขุนเทียน)

2. การจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตโควตาเพื่อควบคุมปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศเฉพาะระบบเครือข่ายไร้สายทั้งมหาวิทยาลัยและระบบ LAN ของอาคารหอพักนักศึกษา ดังนี้

ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตต่อผู้ใช้/เดือน ความเร็วช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ไม่เกิน 15 GBไม่จำกัด
15 GB – 20 GB5 Mbps
ตั้งแต่ 20 GB ขึ้นไป1 Mbps

ขยาย Bandwidth มจธ.บางมด และบางขุนเทียน

สำนักคอมพิวเตอร์ร่วมมือกับสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เชื่อมต่อข่ายสายสัญญาณ Fiber Optic ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีพื้นที่การศึกษาบางมด และพื้นที่การศึกษาบางขุนเทียน โดยข่ายสายใหม่นี้มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงถึง 1 Gbps และได้เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 มค 2556

สำนักคอมฯ ปรับปรุงระบบอินทราเน็ต เน้นใช้งานง่าย และแจ้งเตือนกันพลาดข่าวสำคัญ

31 พฤษภาคม 2555: สำนักคอมพิวเตอร์ มจธ. เร่งปรับปรุงและทดสอบระบบอินทราเน็ตใหม่ เพื่อให้บริการทันในเดือนมิถุนายน โดยจะเน้นปรับการเข้าถึงการใช้งานระบบต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น และเพิ่มระบบการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวถึงผู้ใช้งานโดยตรง

สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เร่งปรับปรุงระบบอินทราเน็ต เพื่อให้ผู้ใช้งานทั้งคณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยฯ สามารถใช้งานได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

โดยรายละเอียดการปรับปรุงครั้งนี้ ได้รับการเปิดเผยว่า ระบบอินทราเน็ตใหม่จะมีการเปลี่ยนแนวคิดของการใช้งานใหม่ เน้นการใช้งานในแบบของการใช้บริการ มากกว่าจะเป็นการใช้งานระบบที่ผู้ใช้งานต้องการข้อมูลเรื่องใดต้องเข้าไปที่ระบบนั้นๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยรายการของระบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน ที่อยู่ในแท็บ “บริการ” จะลดบทบาทลง เหลือเฉพาะสำหรับการใช้งานของผู้ดูแลข้อมูลเท่านั้น และจะมีการย้ายไปอยู่ในแท็บ “ระบบการจัดการ” แทน

รายการของบริการต่างๆ ที่มีการแบ่งหมวดหมู่ตามประเภทของบริการ จะสามารถเรียกใช้ได้จากหน้าหลักของอินทราเน็ตภายในคลิกเดียว ซึ่งทางทีมผู้พัฒนาจากสำนักคอมพิวเตอร์ มจธ. กำลังเร่งทยอยปรับระบบให้อยู่ในรูปแบบของการบริการมากขึ้น

อีกความสามารถหนึ่งที่จะถูกพัฒนาเพิ่มเข้ามาก็คือ การแจ้งเตือน เมื่อมีข้อมูลข่าวสารใหม่เข้ามา แล้วผู้ใช้งานยังไม่ได้อ่าน ซึ่งจะมีบทบาทในการช่วยให้ผู้ใช้งานไม่พลาดข้อมูลและข่าวสารสำคัญๆ ที่ตนเองควรรู้

การปรับปรุงและพัฒนาระบบอินทราเน็ตของมหาวิทยาลัยฯ ดังกล่าว สำนักคอมพิวเตอร์มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการให้บริการออนไลน์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยให้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะเปิดให้ทดลองใช้งานได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

นโยบายการจำกัด Bandwidth Internet

ตามที่มหาวิทยาลัยได้เช่าช่องทางสำหรับเชื่อมต่อ Internet ไปต่างประเทศ โดยใช้บริการจากบริษัท Triple T ซึ่งมีความเร็วในการเชื่อมต่อที่ 480Mbps จากการตรวจสอบปริมาณการใช้งานของผู้ใช้ทั้งมหาวิทยาลัยแล้วพบว่ามีข้อมูลถูกส่งเข้ามาในช่องทางดังกล่าวอย่างคับคั่งเกือบตลอดเวลา ทำให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการเชื่อม Internet ไปต่างประเทศ

จากงบประมาณของมหาวิทยาลัยที่มีอย่างจำกัดและเพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าแต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของการให้บริการที่ดี ดังนั้นสำนักคอมพิวเตอร์จึงมีความจำเป็นต้องจำกัดความเร็วของการสื่อสารข้อมูลผ่าน Internet บางประเภทเพื่อให้การใช้งานที่เป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยยังคงสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักคอมพิวเตอร์ได้กำหนดนโยบายไว้ดังตารางที่ 1 โดยการจำกัดความเร็วดังกล่าวอาจส่งผลให้การใช้งานการสื่อสารข้อมูลผ่าน Internet ไปต่างประเทศประเภทดังกล่าวได้รับผลกระทบในการใช้งาน เช่น การ load file บางประเภทจาก Web ช้าลง การชม VDO จาก Youtube เกิดการหยุดชะงักในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

# ประเภทการสื่อสารข้อมูล ตัวอย่าง Application ความเร็วที่ถูกจำกัดไว้
1 Streaming Youtube, วิทยุ online 270 Mbps (56%)
2 FTP (File transfer protocol) FTP, การ Download โดยใช้ FTP 70 Mbps (14%)
3 HTTP Download การ Download โดยใช้ Browser 80 Mbps (16%)

สำนักคอมฯ มจธ. ยกระดับการให้บริการ เพิ่มคุณภาพด้านบริการเครือข่ายใหม่ 3 จุด

กรุงเทพฯ 19 ธันวาคม 2554: ด้วยมุ่งหวังให้บริการด้านเครือข่ายครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้งานทุกกลุ่มภายใน มจธ. งานด้านเครือข่ายสำนักคอมพิวเตอร์ เร่งปรับปรุงคุณภาพให้รองรับบริการที่มีขีดความสามารถสูงขึ้น 3 จุดพร้อมกัน ทั้งเพิ่มระบบสำรองไฟฟ้า เปลี่ยนอุปกรณ์ชุดใหม่ ปรับปรุง Firmware อุปกรณ์เครือข่ายเดิม

สำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เร่งปรับปรุงคุณภาพการบริการด้านเครือข่ายให้รองรับกับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น และต้องการความเร็ว รวมถึงเสถียรภาพที่มากขึ้น ด้วยการเพิ่มคุณภาพด้านบริการเครือข่ายใหม่ 3 จุด  โดยเริ่มจากการติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ณ อาคารพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ 190 (โรงอาหาร) โดยเปลี่ยนจากอุปกรณ์ Switch Layer 2 รองรับความเร็วที่ 100 Mbps และ Wireless Access Point b/g รองรับความเร็วที่ 54 Mbps เป็นอุปกรณ์ Core Switch ประจำอาคารทำงานแบบ Switch Layer 3 รองรับความเร็วได้ถึง 10 GB และทำการติดตั้งอุปกรณ์ Wireless Access Point  ชุดใหม่แบบ a/b/g/n รองรับความเร็วเพิ่มขึ้นได้ถึง 300 Mbps ซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษาและบุคลากรที่ใช้งานเครือข่ายภายในบริเวณอาคารพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ 190 ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนั้นยังได้ทำการติดตั้งเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS)  ที่ห้องควบคุมเครือข่ายหลักประจำอาคารวิศววัฒนะ ชั้น 2 (วิศวกรรมเครื่องกล)  เพื่อป้องกันอุปกรณ์เครือข่ายภายในห้อง เกิดความเสียหายจากเหตุไฟฟ้าดับ ไฟตก ไฟกระชาก โดยที่เครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) ดังกล่าวมีขนาด 1 กิโลโวลต์ ซึ่งจะทำให้สามารถสำรองไฟฟ้า และตรวจสอบระบบไฟฟ้ารวมถึงอุณหภูมิภายในห้อง ด้วยความสามารถที่จะแสดงผลและแจ้งเตือนผ่านระบบเครือข่าย ทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบและควบคุมได้จากระยะไกล อีกทั้งยังมีการส่งอีเมลแจ้งมายังผู้ดูแลระบบเมื่อเกิดปัญหา เช่นไฟตก ไฟกระชาก หรืออุณหภูมิภายในห้องสูง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ปิดท้ายด้วยการ Upgrade Firmware ให้กับอุปกรณ์ระบบเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (SSL VPN) โดยปัจจุบันสามารถรองรับอุปกรณ์ Mobile Device ต่างๆ อย่างเช่น iPhone, iPad ได้แล้ว โดยผู้สนใจใช้งานสามารถตรวจสอบรุ่น และวิธีการติดตั้งซอฟต์แวร์ ได้ที่ http://www.nocv6.kmutt.ac.th/?p=677